แต่ละคณะ...เรียนอะไร??? (ตอนที่2)
แต่ละคณะ...เรียนอะไร??? (ตอนที่2)
เลือกเรียนคณะในฝันอย่างชาญฉลาด
เรียนรู้ข้อมูลของ 3 คณะในฝันของหลายๆ คนกันแล้ว ก็มาเรียนรู้ต่อด้วย อีก 3 คณะ ที่เชื่อว่าฮอตฮิตไม่แพ้คณะไหนๆ ไม่ว่าจะแป็น ทันตแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และเภสัชศาสตร์...ไม่เสียเวลาไปตามดูข้อมูลของ 3 คณะที่ว่ากันเลย!!!
คณะทันตแพทยศาสตร์
ทันตแพทยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเรื่องฟัน อวัยวะในช่องปาก และอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยออกเสียงและส่งเสริมบุคลิกภาพอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของ ชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะมีความสามารถในการตรวจวินิจฉัย วางแผน และบำบัดรักษาโรคในช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบูรณะเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งมีความสามารถในการป้องกันโรคฟันผุแก่ชุมชน เผยแพร่ความรู้ทางทันตสุขศึกษา และทำการวิจัยทางด้านทันตแพทยศาสตร์ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา จะต้องเป็นผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้ นอกจากนี้ควรเป็นผู้มีฝีมือปั้นพอสมควร
มาดูกันสิว่าแนวทางในการประกอบอาชีพเมื่อจบหลักสูตรมีอะไรกันบ้าง...ขึ้นชื่อว่าทันตแพทย์ ก็คงหนีไม่พ้นกับเรื่องของ “ฟัน” ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จะมีความรู้ความสามารถในทางทันตกรรม และสามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1.เป็นอาจารย์สอนและวิจัย เป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย ฯลฯ
2. ประกอบอาชีพสาขาทันตกรรมในคลินิกส่วนตัวและโรงพยาบาลเอกชน
มาต่อกันที่ “พยาบาลศาสตร์” เชื่อว่าน้องๆ หลายคนใฝ่ฝันที่จะใส่ชุดพยาบาลสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งจะว่าไป “พยาบาล” ก็เสมือน “นางฟ้า” ของคนป่วย จริงไหมคะ?? มาดูกันว่าถ้าอยากเป็นพยาบาลจะต้องเรียนอะไรบ้าง...
คณะพยาบาลศาสตร์
พยาบาลศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เน้นหนักในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ผู้ป่วยทางกายหรือทางจิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพและผู้สูงอายุ การให้บริการด้านพยาบาล คำนึงถึงความต้องการของคนไข้ ตามลักษณะของโรคที่เป็น สังเกตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงของคนไข้ รายงานให้แพทย์ทราบถึงอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ช่วยคนไข้ให้ปรับตัวเข้ากับภาวะขัดข้องใด ๆ ที่อาจเกิดจากการเจ็บป่วย จัดให้คนไข้มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย ป้องกันและควบคุมการเผยแพร่ของโรคติดเชื้อ สอนคนไข้และประชาชนทั่วไปให้รู้จักรักษา และส่งเสริมสุขภาพ ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ฝายการแพทย์ แลอนามัยแขนงอื่น ๆ ในด้านบริการคนไข้
ใครที่อยากเรียนพยาบาล จะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้...
1.มีความรู้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์
2.มีสุขภาพกายและจิตดี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้ป่วย มีเมตตากรุณา และมีความรักในเพื่อนมนุษย์
3.เสียสละทั้งด้านเวลาและตนเองให้แก่ผู้ป่วยทุกคน มีความอดทน อดกลั้น
ส่วนแนวทางในการประกอบอาชีพของผู้จบหลักสูตรนี้ ก็คงต้องเป็น “พยาบาล” นั่นเอง ซึ่งจะรับราชการในหน่วยงานของรัฐ หรือทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ รายได้ค่อนข้างดี แถมยังสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอกสาขาพยาบาลศาสตร์ได้ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย!
อีก 1 คณะสำหรับตอนที่ 2 นี้ “เภสัชศาสตร์” ใครอยากเป็น “เภสัชกร” ก็ต้องมาศึกษาข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนว่าต้องเรียนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะรอช้าทำไม ตามไปดูกันเลย...
คณะเภสัชศาสตร์
เภสัชศาสตร์ คือ ศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรุงผสม ผลิต และจ่ายยา รวมถึงการเลือกสรรจัดหายาสำเร็จรูป เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวขอ้งเพื่อให้บริการ และให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสม ตรวจสอบทบทวนการใช้ยา พร้อมทั้งติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย โดยภาพรวมคือ ระบบความรู้ที่ก่อให้เกิดความสามารถที่จะให้บริการด้านสุขภาพด้วยความเข้าใจในเรื่องยา และผลที่เกิดจากยา เพื่อให้การบำบัดรักษาได้ผลดีที่สุด โดยรับผิดชอบร่วมกับบุคลากรสุขภาพอื่น ๆ ในอันที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการค้นคว้าประดิษฐ์ ผลิตยาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกต่อการนำมาใช้บำบัดรักษาโรคในผู้ป่วย ตลอดจนควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามกำหนด โดยการศึกษาเน้นหนักการให้บริการการศึกษาพื้นฐานสำหรับวิชาชีพเภสัชกรรม ในแนวกว้าง และเลือกเรียนวิชาเฉพาะทางใน2 สาขา ดังนี้
1.เภสัชกรรมปฏิบัติและการบริหารเภสัชกิจ
ประกอบด้วยสาขาย่อย คือ เภสัชกรรมคลินิก การบริหารเภสัชกรรมในโรงพยาบาล สาธารณสุข และเภสัชธุรกิจ
2.เภสัชศาสตร์ และเทคโนโลยี
ประกอบด้วยสาขาย่อย คือ เภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและชีววัตถุ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และการประกันควบคุมคุณภาพ
คนไหนอยากเรียนในหลักสูตรนี้ก็ต้องจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ต้องไม่เป็นโรค หรือความพิการที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกร
แล้วถ้าเรียนจบหลักสูตรเภสัชศาสตร์แล้ว แนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปละเป็นอย่างไร...ซึ่งคนที่เรียนจบเภสัชฯ แล้วก็จะสามารถทำงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย สถานีอนามัย เป็นเภสัชกรอุตสาหกรรม ในโรงพยาบาล หรือบริษัทจำหน่ายยาทั้งของรัฐและเอกชน แบ่งออกเป็นแผนกผลิต แผนกควบคุมมาตรฐาน และแผนกวิจัย เภสัชกรชุมชน เป็นเจ้าของผู้จัดการหรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เภสัชกรการตลาด ทำหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์ยา และสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ทั้งในและต่างประเทศ
ทีนี้ก็ถึงเวลาที่น้องๆ จะสำรวจตัวเองกันแล้ว ว่าชอบอะไร อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจใส่ให้เต็มเปี่ยมเพื่อก้าวไปสู่ความใฝ่ฝันนะคะ...เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนค่ะ ^ ^
ภารดี วงค์เขียว
ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น