14 กุมภาพันธ์ 2555
จากแป๊ะเจี๊ยะถึงบริจาคเงิน... !! 'คำไหน' ก็ 'ทำร้าย' การศึกษาไทย!!
ทันทีที่มีการประกาศของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ป้ายแดงทำนองว่า การบริจาคเพื่อแลกกับการเข้าเรียนนั้น หากมีการกำหนดไว้ในระบบวิธีการรับนักเรียนก็สามารถทำได้ และตราบใดที่ไม่มีใครไปฟ้องว่าผู้บริหารรับเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการอะไรได้ ทำให้ประเด็นการรับเงินให้เปล่า หรือที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” จะถูกทำให้หายไปจริงหรือ หรือว่าแค่เปลี่ยนคำแต่รูปแบบยังคงเดิม พลันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มากมาย
เรื่องนี้ไทยรัฐออนไลน์สอบถามไปยัง อาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์www.eduzones.com กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการรับเงิน“แป๊ะเจี๊ยะ”เพื่อรับฝากเด็กเข้าโรงเรียนว่า เกิดจากความต้องการของตัวผู้ปกครองเอง ที่ต้องการให้เด็กนักเรียนเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่ผู้ปกครองต้องการ
"เรื่องแบบนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นความต้องการของทั้งสองฝ่าย คือทั้งตัวผู้ปกครองอยากเข้าโรงเรียนและผู้อำนวยการเอง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกวงการ แม้แต่การรับฝากเข้างาน ซึ่งมันเป็นเรื่องของความโลภ ที่มาแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนอยากเข้าโรงเรียน และคนมีอำนาจภายในที่อยากได้เงิน ซึ่งเกิดจากความเคยชินของสังคมไทยเอง โรงเรียนที่มีชื่อเสียงกับการที่ผู้ปกครองแย่งกันให้เด็กเข้าเรียนนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว
ผู้ที่คลุกคลีในวงการการศึกษาบอกอีกว่า โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาจากกรณีการ “รับเงิน” เพื่อฝากเข้านั้นจะมีผลกระทบกับเด็กที่มีความสามารถ ที่อาจเสียโอกาสในการเข้าเรียนในโรงเรียน และรวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มากขึ้น
ความจริง คนที่มีความสามารถในการเข้าเรียน ไม่จำเป็นต้องมีเงินก็สอบเข้าได้ แต่ว่าที่นั่งเรียนก็จะถูกจำกัดมากขึ้น เพราะมีส่วนที่ฝากเข้ามากันที่เอาไว้แล้ว ซึ่งการแก้ไขเรื่องเหล่านี้ ต้องใช้ระยะเวลา เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้ก็มีมานานแล้ว เช่นคนนี้ดี คนโน้นดี ก็ดึงเข้ามา แล้วช่วยบริจาคหน่อย แล้วก็เข้ามาช่วยงาน แต่ไม่รู้ว่าจะให้เข้าไปทำตำแหน่งอะไร เพราะไม่มีที่ให้เขา รู้แต่ว่าเขาดีต่อเรา เราต้องตอบแทนเขา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความนอบน้อมมากเกินไป”
สำหรับหนทางแก้ไขในระยะสั้นนั้น ต้องทำระบบการรับสมัครต่างๆ รวมถึงการประมูลเพื่อการบริจาคให้โปร่งใสในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้เป็นโควตาผู้อุปถัมภ์ ที่ช่วยเหลืองานโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง มีคุณสมบัติอย่างไร ที่มีสิทธ์ฝากเข้าเรียนได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ส่วนระยะยาว ก็ต้องปลูกฝังจิตสำนึกต่างๆ ความละอาย เวลาทำผิดกติกาต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ต้องสร้างตั้งแต่ครอบครัว เด็กรุ่นใหม่เป็นต้นไป
“ในระยะสั้น ถ้าสามารถทำระบบการรับนักเรียนเข้าเรียนอย่างโปร่งใส ก็สามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่งแล้ว มาให้เป็นเรื่องราวเลย เช่น ผมเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนนี้ มีสิทธ์ฝากเข้า 1 คน หรือ 1 -2 ปี ฝากเข้าได้ 1 คน ซึ่งอาจดูแย่ แต่ถ้าคนที่มองความเป็นจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และสามารถลดปัญหาคอรัปชันได้”
ขณะที่ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กฝากอยู่ 2 ระบบ 1. การฝากโดยใช้อำนาจหน้าที่ เช่นการฝากโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.หรือการใช้อิทธิพล กับการฝากโดยใช้เงิน ซึ่งจากที่ รมต.ศึกษาธิการแถลงไว้ ไม่ได้เป็นการปิดช่องในการรับฝากนักเรียนเข้าเรียนเลย ซึ่งการฝากเงินในลักษณะนี้ก็คือเงินแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งถ้าสามารถตั้งหลักเกณฑ์ในการบริจาคได้ ก็จะเป็นเงินระดมทรัพยากร
“การออกมาแถลงลักษณะนี้เท่ากับมีแนวโน้มในทางการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะมากกว่าเงินระดมทรัพยากร เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ จึงทำให้ช่องว่างระหว่างเงินแป๊ะเจี๊ย กับเงินบริจาคไม่ห่างกันมาก และเท่ากับทำให้ตลาดการรับฝากนักเรียนเข้าโรงเรียน กลับพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง”
สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ รมต.ศึกษาธิการ ออกมาพูดว่าไม่ให้มีการรับฝากเด็ก ว่าถ้าจะไม่ให้มีการฝากเด็ก ก็จะต้องไม่มีการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ และไม่มีการใช้อำนาจ และถ้าต้องการให้มีเงินระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ก็ต้องต้องไม่พูดนำในลักษณะการใส่ตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ หรือต้องไม่มีข้อแม้หรือข้อแลกเปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น
“ต้องระวังว่ารัฐบาลนี้เคยพูดไว้ว่าต้องไม่มี 2 มาตรฐาน แต่การศึกษาทุกวันนี้มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถ้าใช้เงินฝากเด็ก ก็คือทั้งเหลื่อมล้ำ และใช้อำนาจเงิน ทำให้มาตรฐานการศึกษาแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และการออกมาพูดเรื่องระดมทรัพยากรโดยอ้างแป๊ะเจี๊ยแบบนี้ ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการฝากเด็กอย่างเต็มที่ผ่านการบริจาคเงินกัน”
กูรูด้านการศึกษายังกล่าวถึงสมัยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติเป็น รมต.ศึกษาธิการ ถึงการแก้ไขปัญหาเด็กฝาก ว่าสามารถแก้ไขปัญหาแป๊ะเจี๊ยะได้ 1 ปี โดยการประกาศเลยว่าไม่ให้มีเด็กฝากเลย ไม่ว่าจะกรณีอะไร และถ้ามีนักเรียนเกินจำนวนเข้ามาก็ต้องชี้แจงเลยว่ามาจากไหน และทำบัญชีว่าก่อนรับหลังรับ ถ้ามีการเพิ่มเติมต้องอธิบายว่าเด็กมาได้ยังไง ซึ่งรัดกุมมาก แม้ขนาดต่างภาคการศึกษา สมมติว่าฝากโรงเรียนนี้ไม่ได้ ก็ไปฝากที่โรงเรียนอื่นก่อน 1 เทอม พอเทอมที่ 2 ก็เอากลับมา หรือแม้กระทั่งฝากไปติวข้อสอบเลย ก็สามารถป้องกันได้หมด แต่พอสมัยคุณวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ก็บอกว่าฝากเด็กได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการฝากเด็กเข้าโรงเรียนได้
พ่อพิมพ์ของชาติ ยังแนะนำถึงการแก้ไขปัญหาการรับบริจาคเงินระดมทรัพยากร เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับการรับฝากเด็ก ว่าต้องกำหนดระเบียบในการระดมทรัพยากร เอาให้ดี เอาให้ได้ ต้องแยกกันให้ได้ระหว่างการระดมทรัพยากรกับแป๊ะเจี๊ย และไม่ให้มีเงื่อนไขหรือข้อแม้ว่าการบริจาคคือการรับฝากเด็ก ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจน
“ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาก ผู้ปกครองก็ต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครองก็ยอมลงทุน ทำให้แป๊ะเจี๊ยะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทย การฝากเด็กโดยใช้อำนาจเงินสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาที่แตกต่าง และไม่ได้รับการแก้ไขมากกว่า ทำให้ผู้ปกครองต้องใช้เงินซื้ออนาคต ซื้อชีวิตให้ลูกหลานตัวเอง และในประสบการณ์ ถ้าข้าราชการ นักการเมือง ไม่แก้ไขปัญหาจริงจัง ปัญหาเด็กฝาก ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้” นักวิพากษ์การศึกษาชื่อดังกล่าวทิ้งท้าย
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายพรพัฒน์ รังสิโย และนายพิชิต สว่างวิบูลย์พงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนโยธินบูรณะ เข้าพบ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบการเรียกเก็บเงินค่า "แป๊ะเจี๊ยะ" ของโรงเรียน พร้อมทั้งมอบหลักฐานเอกสารให้พนักงานสอบสวน
วันที่ 10 มิถุนายน 2552 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า ได้ให้ทางโรงเรียนชื่อดังหลายแห่งอาทิ โรงเรียนบดินทร์เดชาฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนสตรีวิทยา ที่มีการร้องเรียนการเรียกเก็บ “แป๊ะเจี๊ยะ” ส่งข้อมูลบัญชีการรับสมัครเด็กนักเรียนทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่ามีนักเรียนเข้าไปเรียนแบบวิธีพิเศษกี่คน บัญชีรายรับรายจ่ายของโรงเรียนและสมาคมผู้ปกครอง หรือสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเงินอย่างไรบ้าง
วันที่ 6 พ.ค. 2553 เป็นวันมอบตัวของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ปกครองนักเรียนเข้าใหม่ระดับชั้น ม.1 , ม.4 พาบุตรหลานมามอบตัวให้กับทางโรงเรียน ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเรียก ”แป๊ะเจี๊ยะ” จำนวน 10,000 บาท ต่อคน หลังเสร็จพิธีพานักเรียนเข้าปฐมนิเทศในวันนั้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น