สวัสดีครับ เริ่มเปิดรับสมัครแล้ว สำหรับ 7 วิชาสามัญ ข้อสอบ และระบบใหม่ ที่หลายคนยังไม่เข้าใจว่า "มันคืออะไร และใครต้องสอบ" ก่อนที่จะไปดูว่าใครต้องสมัคร คณะไหนต้องใช้ เรามาทำความเข้าใจกับ 7 วิชาสามัญก่อนจะได้ไม่ "งง" นะคร้าบ
7 วิชาสามัญ คืออะไร และต้องสอบทั้ง 7 วิชาเลยไหม
สทศ. บอกมาว่าเป็นข้อสอบที่ยากกว่า O-NET แต่ง่ายกว่า GAT PAT จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีตที่สมัยก่อนหากเด็ก ม.6 สมัครรับตรง 5 ที่ ก็ต้องวิ่งหัวฟูไปสอบ 5 ครั้ง แต่หากเป็นปีนี้สบายมาก ไม่ว่าจะสมัครกี่ที่ ก็สอบแค่ครั้งเดียวจบ คือ สอบ 7 วิชาสามัญครั้งเดียว ชุดเดียว ทั่วประเทศจบไปเลย โดย 7 วิชาสามัญนี้แต่ละคณะจะสอบไม่เท่ากันนะครับ บางคณะก็สอบหมด 7 วิชา บางคณะก็สอบแค่ 3 ดังนั้น น้องๆ ต้องไปดูในระเบียบการรับตรงแต่ละมหาวิทยาลัย ว่าคณะที่เราจะเข้า เขาได้มากำหนดให้สอบวิชาไหน ส่วนมหาวิทยาลัยไหนไม่กำหนด ก็ไม่ต้องสอบจ้า
ใครต้องสมัครบ้าง
คนที่สมัครได้คือ น้องๆ ม.6 ปวช. กศน. หรือพี่ๆ เด็กซิ่ว พ่อแม่ที่จบสูงกว่า ม.6 ขึ้นไปจ้า
มหาวิทยาลัยไหนต้องใช้คะแนน 7 วิชาสามัญนี้บ้าง
มีประมาณ 7 แห่งครับ ยกตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะอักษรศาสตร์ - คณะนิติศาสตร์ - คณะเศรษฐศาสตร์ - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะครุศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะอักษรศาสตร์ - คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร - คณะวิทยาการจัดการ - คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร - คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะสหเวชศาสตร์) รับตรง กสพท. (คณะแพทยศาสตร์ - คณะทันตแพทยศาสตร์) และยังมีอีกหลายวิทยาลัยนะครับ น้องๆ อย่าลืมไปเช็คที่เว็บมหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วยนะ
7 วิชาสามัญกับเคลียริ่งเฮ้าส์ มันคืออันเดียวกันไหม
คนละอันกันครับ พูดง่ายๆ ก็คือ 7 วิชาสามัญเป็นส่วนหนึ่งในระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ โดยยกตัวอย่างว่า ระบบ "เคลียริ่งเฮ้าส์" จะเป็นระบบที่เปิดให้น้องๆ มายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้เพียงแค่ 1 คณะเท่านั้น เช่น พี่ลาเต้ วิ่งสอบรับตรงทั่วประเทศติดทั้งหมด 4 มหาวิทยาลัย โดย 4 มหาวิทยาลัยที่ติดนั้นเข้าร่วม "เคลียริ่งเฮ้าส์" ทั้งหมด พอถึงเวลาที่ยืนยันสิทธิ์ พี่ลาเต้ ก็เลือกได้แค่ 1 แห่งเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่งก็จะกลายเป็นที่นั่งว่าง และรับเพิ่มในรอบแอดมิชชั่นกลางต่อไป ซึ่งต่างจากปีก่อนๆ ที่หากสอบตรงติด 4 ที่ ก็ยืนยันสิทธิ์มัน 4 ที่ไปเลยก็ได้ จนอาจเป็นกักที่คนอื่นในที่สุด T^T ส่วน 7 วิชาสามัญ เป็นข้อสอบ 7 วิชาที่จัดสอบโดย สทศ. ออกมาเพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของน้องๆ และลดภาระการจัดสอบของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นเอง (GET แล้วใช่ปะ)
ตัวอย่างโควตา ม.ศิลปากร คณะ ICT มีกำหนดให้ใช้คะแนนจาก 7 วิชาสามัญ
มีคณะไหน ที่สอบทั้ง GAT PAT และ 7 วิชาสามัญ แถมยังเข้าเคลียริ่งเฮ้าส์ไหมครับ
มีครับ หลายคณะเลย พี่ขอยกตัวอย่างเป็นคณะสหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ดีกว่า น้องๆ ที่สอบคณะนี้ก็ใช้ชีวิตตามปกติไปสอบ GAT PAT ในเดือน พ.ย. 54 จากนั้นเดือน ม.ค. 55 ก็ไปสอบ 7 วิชาสามัญ (รู้สึกสหเวชฯ จะใช้แค่ 6 วิชา) ซึ่งหลังจากที่กระบวนสอบต่างๆ เสร็จ ก็จะมีการประกาศผลว่าใครติด หรือไม่ติด (หากติดก็ดีใจด้วย เย้ เย้) จากนั้นประมาณเดือนมีนาคมปี 55 น้องๆ ที่ติดผ่านรับตรงของสหเวชฯ ม.ธรรมศาสตร์ ก็จะต้องไปยืนยันสิทธิ์ในระบบ "เคลียริ่งเฮ้าส์" ทางเว็บไซต์ของ สอท.เพื่อยืนยันว่าจะเลือกศึกษาเข้าที่ไหน ไม่ว่าเราจะติดกี่มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่จะติดแค่มหาลัยเดียว ก็ต้องยืนยันสิทธิ์ครับ เพราะไม่งั้นอดเรียนแน่ๆ
สมัครที่ไหน อย่างไร
ขั้นตอนการสมัคร จะเหมือนกันกับสมัคร GAT PAT เลยครับ มีให้เลือกสนามสอบด้วยนะ ระบบจะเปิดให้สมัครตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ตุลาคม 54 และสอบในต้นเดือนมกราคม 55 ส่วนค่าสมัครวิชาละ 100 บาทคร้าบ อ๋อๆ สนามที่ใช้สอบเบื้องต้นมี 4 ศูนย์นะครับ คือ กรุงเทพฯ (สนามสอบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์) ขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) เชียงใหม่ (ม.เชียงใหม่) พิษณุโลก (ม.นเรศวร) และสงขลา (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งหากมียอดผู้สมัครมาก ทาง สทศ.อาจเพิ่มสนามสอบให้ครับ รอติดตามๆ ว่าแล้วก็ไปสมัครกันเลยที่เว็บ www.niets.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น