Powered By Blogger

6 พฤศจิกายน 2556

7 step แห่งการค้นหาตัวเอง

 

         คนที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ฉันว่าน่าอิจฉากว่าคนที่ได้ทำงานที่มีเงินเดือนสูงๆซะอีกนะ  เพราะการที่ได้ทำงานที่เรารักนั้น มันจะทำให้เราไม่รู้สึกว่ามันคือการทำงาน แต่เราจะรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต   ชีวิตส่วนตัวจะไม่ถูกแยกขาดออกจากการทำงาน เราจะทำงานแบบไม่ต้องรอคอยวันหยุดเสาร์อาทิตย์  เราจะสนุกกับการแก้ปัญหา เราจะอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นๆโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ

               ว่ากันว่า คนที่โชคดีที่สุด ก็คือคนที่ค้นพบว่าตนเองชอบอะไรและได้ทำในสิ่งที่ชอบนั้น

                แต่การจะค้นพบความฝัน , สำหรับบางคน มันก็ไม่ง่าย   อย่างเราเอง กว่าจะตอบคำถามนี้ได้ว่าชีวิตนี้อยากจะทำอาชีพอะไร ก็ปาเข้าไปตอนอายุ 25   ก่อนหน้านั้นก็อาจมีคำตอบอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคำตอบที่เต็มไปด้วยความรวนเรและไม่แน่ใจ   บางสิ่งที่คิดว่าใช่ พอลองทำดูจริงๆอาจพบว่าไม่  ความฝันความสนใจบางทีมันก็เปลี่ยนไปตามวันเวลา   ชีวิตก็ต้องตั้งคำถามและค้นหาต่อไป    ซึ่งในที่สุดคำตอบใช่ ก็เริ่มปรากฏขึ้นมา

                  ต่อไปนี้  คือการประมวลเส้นทางการค้นหาความฝันที่ฉันใช้ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากเรียนจบ   เผื่อว่าใครที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ  จะได้ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู … นี่อาจไม่ใช่บทสรุปหรือทฤษฎีแห่งการค้นหา  มันเป็นเพียงแค่วิธีการหนึ่งที่ฉันได้ใช้  และมันก็ได้ผล   ใครที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ก็ลองดูละกัน

                ส่วนใครที่ค้นพบตัวเองแล้วก็…ดีใจด้วยอย่างแรงงงงงง

 

                1.  ทำความรู้จักตัวเองอย่างสุดๆ

                วิธีการนี้ ได้มาจากพี่โหน่ง- วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day) ในหนังสือ  a day story ที่เล่าถึงเรื่องราวกว่าที่จะมาเป็น a day อย่างทุกวันนี้

                 ในสมัยที่พี่โหน่งเรียนจบใหม่ๆและอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง  วิธีการหนึ่งในการตอบคำถามที่ว่า “เราอยากทำอาชีพอะไร” ที่พี่โหน่งได้ใช้  ก็คือการหยิบกระดาษใหญ่ๆขึ้นมาแผ่นหนึ่ง  แบ่งเป็นสองซีก   ซีกแรกให้เขียนสิ่งที่ตัวเองชอบลงไปให้หมด  เช่นชอบวาดรูป  ชอบเที่ยว   ชอบคุยกับคนชอบคิดเพ้อฝัน ฯลฯ  ส่วนอีกซีก ก็เขียนในสิ่งที่ตรงข้ามกัน  เช่น ไม่ชอบการอยู่ในระเบียบ  ไม่ชอบทำงานออฟฟิศ ฯลฯ

                หลังจากรู้จักความชอบ-ไม่ชอบของตัวเองเสร็จแล้ว  ก็หยิบกระดาษขึ้นมาอีกแผ่นหนึ่ง แล้วแบ่งเป็นสองซีกเช่นเดียวกัน   ซีกแรก เขียนสิ่งที่เราถนัดทั้งหมดลงไป  เราทำสิ่งไหนได้ดี มีคนชม ก็เขียนมันลงไป   ส่วนอีกซีก ก็ตรงข้ามกัน คือเขียนสิ่งที่ไม่ถนัดลงไป

                นี่คิดขั้นแรกของการรู้จักตัวเอง    เพราะเราคงหางานที่เหมาะกับเราไม่ได้  หากเราไม่รู้ว่าตัวเราเองเป็นยังไง

 

               2.  ออกนอกกะลา – หาประสบการณ์ –เพิ่มทางเลือกให้ชีวิต

                อาชีพบนโลกนี้ มันมีหลากหลายมากกว่าที่เราคิดมากนัก   ยิ่งเห็นโลกมาก ก็ยิ่งมีทางเลือกให้เลือกเดินมาก   ในการนี้ ไม่จำเป็นต้องแบกเป้ออกเดินทางเท่านั้น  เราสามารถนั่งอยู่กับบ้าน แล้วเดินทางไปพร้อมๆกับการอ่านหนังสือได้     อย่างเช่นนิตยสาร a day, นิตยสาร ฅ คน หรือหนังสือบทสัมภาษณ์ผู้คนต่างๆ  นั่นแหละคือไกด์นำทางชั้นดี ที่จะพาเราไปเห็นการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้คนที่หลากหลาย  ทำให้รู้ว่าบนโลกนี้มันมีอะไรให้ทำมากกว่าที่เราคิดมากมายนัก

               เมื่อเห็นทางเลือกมากๆแล้ว  ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องเลือกว่า อันไหนล่ะที่จะเหมาะกับเรา

 

               3. ตั้งคำถามอย่างจริงจังและหมั่นสังเกตตัวเอง

                หากเราไม่คิดจะตั้งคำถาม ไม่คิดค้นหา  แค่ทำในสิ่งที่เป็นอยู่ไปวันๆ เมื่อนั้นก็คงไม่ได้รับคำตอบ

                อยากได้คำตอบ ก็ต้องตั้งคำถาม … แต่อย่าลืมว่า มันอาจไม่ได้มาในทันทีทันใด  บางครั้งมันก็ต้องใช้ระยะเวลา  อย่าใจร้อน ไม่ใช่ถามครั้งเดียวแล้วพอไม่ได้คำตอบก็เลิกถาม…มันไม่ใช่

                ระหว่างที่เดินทางเปิดกะลาในข้อสอง เราก็ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า  เรารู้สึกกับอาชีพต่างๆที่ได้รู้จักนั้นอย่างไร    อาชีพไหนที่เราอ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น ตาโต  อันไหนที่ทำให้รู้สึกหัวใจเต้นแรง  รู้สึกเกิดแรงอิจฉาว่า “เฮ้ย….อยากทำอย่างนี้มั่งจัง”   ถ้าสังเกตตัวเองชัดๆ  มันจะได้อาชีพที่ผ่านเข้ารอบมาในจิตใจจำนวนหนึ่ง

 

                4. โยนคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ไปไกลๆ

                นี่คือข้อที่ฉันรู้สึกว่าสำคัญที่สุดในการค้นพบความฝัน

                ในวันที่ฉันค้นพบความฝันของตัวเองนั้น  คือช่วงเวลาที่ฉันกำลังอ่านบทสัมภาษณ์ทีมงานนิตยสารเล่มหนึ่ง   ระหว่างที่อ่านก็รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่างในจิตใจ  รู้สึกหัวใจเต้นแรงแปลกๆ   เลยลองหยุดอ่านแล้วถามตัวเองว่ามันเกิดอะไรกับจิตใจของเรา

                คำตอบที่ได้มาจากส่วนลึกในใจพบว่า “มันคือความอิจฉา  เราว่าเราอยากทำแบบนั้นบ้าง”

                แต่ทันใดนั้น ความคิดอีกฟากฝั่งในใจก็สวนกลับมาว่า “จะเป็นไปได้ยังไง  โอกาสมันน้อยมากนะ   นิตยสารแนวที่อยากทำก็มีอยู่แค่ 2-3 เล่ม   ประสบการณ์ก็ไม่มี  มันยากมากนะที่จะได้ทำงานนี้  คิดหาทางอื่นดีไหม”

                แต่ก่อนที่ความกลัวจะครอบงำจิตใจ   ฉันก็ลองบอกตัวเองก่อนว่า  “โยนคำว่าเป็นไปไม่ได้ทิ้งไปก่อน  แล้วถามตัวเองดีๆก่อน ว่านี่น่ะ ใช่สิ่งที่อยากทำจริงๆหรือเปล่า”

                เมื่อคำตอบโป๊ะเชะว่า “ใช่”    …. ก็ นั่นไง  ค้นพบแล้ว

                ซึ่งถ้าถามว่าทำไมเพิ่งมาค้นพบเอาป่านนี้   ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้หรือ    เมื่อคิดทบทวนดูล้วก็พบว่า “เคย”  ……  แต่ทุกครั้งที่รู้สึก  มันกลับถูกคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ครอบงำไว้ จนทำให้เรามองข้ามไอ้ความรู้สึกหัวใจเต้นแรงนั้นไป   สิ่งที่ควรจะพบ ก็เลยไม่พบสักที

                วางคำว่าเป็นไปไม่ได้เอาไว้ก่อน  เพื่อที่จะ “ค้นพบ” ตัวเองว่าชอบอะไร

                “ค้นพบ”ให้ได้ก่อน …  ส่วนจะทำหรือไม่ทำ …. ไว้ค่อยคิดทีหลังก็ได้

 

                5.  พิสูจน์ความฝัน ตอกย้ำความเชื่อ 

                เมื่อเจออาชีพที่อยากทำ  แค่นั้นยังไม่พอ  เราต้องหาข้อมูลเพื่อให้รู้จักงานนั้นทุกแง่ทุกมุมเสียก่อน  ไม่ว่าจะเป็นอ่านสัมภาษณ์  พูดคุยกับคนอาชีพนั้น ว่าถ้าเราทำ เราจะต้องเจออะไรบ้าง

                เพราะผู้คนจำนวนมาก ใฝ่ฝันถึงอาชีพนั้นนี้ในแง่มุมที่มีแต่ความสวยงาม  โดยลืมมองไปว่าทุกอาชีพย่อมมีแง่มุมที่ยากลำบากและมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น   อย่างเช่นการทำนิตยสาร  ถ้ามองผิวเผินก็เหมือนว่าน่าสนุก  ได้เจอกับผู้คนมากมาย  ได้เที่ยว  ได้เจออะไรใหม่ๆทุกวัน  ไม่ต้องตอกบัตร  ไม่ต้องใส่สูทผูกไทด์ ฯลฯ    แต่นั่น…มันก็แค่แง่มุมเดียว  ก่อนจะทำ เราก็ต้องรู้ด้วยว่าในอีกมุมหนึ่ง มันก็เครียดนะ  งานเร่งนะ  ต้องอดนอนนะ  เสาร์อาทิตย์บางทีก็ไม่ได้หยุดนะ ฯลฯ

                เราต้องเห็นทั้งสองแง่มุม แล้วถามตัวเองว่าเรารับมันได้ไหม  เรายังอยากทำมันอยู่หรือเปล่า     และสุดท้าย …รับรู้อย่างเดียวไม่พอ  ต้องพิสูจน์โดยการลงมือทำด้วย  ลองดูสิว่า เราอยู่กับมันได้ไหม    ถ้าอยู่ได้ ก็ใช่เลย

 

                6.  อย่ากังวลเรื่องความสามารถ

                อย่าถามตัวเองว่า “เราจะทำได้เหรอ ”

                แต่ให้ถามตัวเองว่า “อยากทำมันหรือเปล่าล่ะ”

                ถ้าอยากทำซะอย่าง  ฉันก็เชื่อว่า “ความอยาก…เอาชนะ…ความยาก” ได้

                “ความเก่ง”  ไม่สำคัญเท่ากับ “ความอยากเก่ง”

                และ “ความอยากเก่ง”  ก็อาจไม่สำคัญเท่ากับ “ความเชื่อที่ว่าเราจะเก่งขึ้นได้”

                 แน่นอนว่าเราไม่ได้เก่งทุกอย่างมาตั้งแต่เกิด  คนเราไม่ได้เกิดมาพร้อมความสมบูรณ์แบบ แต่เราเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการพัฒนา …. พัฒนาในสิ่งที่เรารัก

                แม้ว่าสิ่งนั้นมันจะยาก  มันอาจดูเกินความสามารถของเรา   แต่ถ้าหากมันเป็นสิ่งที่เรารัก

                “ถึงจะยาก….เราก็อยากสู้”       ใช่ไหมล่ะ

 

                 7. ลงมือทำและกัดไม่ปล่อย

                 หากพบแล้วว่าสิ่งนั้นคือความฝัน

                 ความฝันจะไม่มีค่าเลย หากเราไม่ลงมือทำ

                  ก็อย่างที่พี่โตโต้บอกไว้  มันไม่มีประโยชน์ที่มัวแต่นั่งฝัน  แต่ไม่ก้าวเดิน

                  เวลาสมัครงาน คำพูดที่แสดงความตั้งใจสิบหน้า  มันมีค่าไม่เท่ากับผลงานหรอก

                 ถ้ารักสิ่งนั้นจริงน่ะ  ไม่ต้องพูดมากหรอก  ลงมือทำให้เห็นเลยดีกว่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น